การวิเคราะห์น้ำหนักตัวของเราอย่างถูกต้อง

บทความนี้จะอธิบายเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่จริงๆแล้วมีประเด็นมากมายที่หลายคนมองข้าม นั่นคือเรื่องของ น้ำหนักตัว ที่ไม่ใช่เป็นเพียงตัวเลขบนตาชั่ง น้ำหนักตัวที่มากอาจจะไม่ใช่แปรว่าสุขภาพดี ในทางตรงกันข้าม น้ำหนักตัวที่น้อยก็ไม่ได้แปลว่าสุขภาพแย่ ทำไมถึงเป็นแบบนี้ มาอ่านบทความนี้กันครับ


น้ำหนักตัว ประกอบด้วยอะไร

น้ำหนักตัวประกอบขึ้นมาจาก 2 ส่วนหลัก คือ

  • ส่วนที่เป็นน้ำ เช่น เลือดหรือของเหลวในร่างกาย
  • ส่วนที่เป็นเนื้อ เช่น กระดูก + กล้ามเนื้อ + ไขมัน

โดยที่เครื่องชั่งน้ำหนักทั่วไปจะบอกน้ำหนักรวมทั้งหมด ไม่ได้บอกแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งอาจทำให้การแปลความหมายผิดไปได้ ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “สัดส่วนของร่างกาย” (Body composition) ตัวเลขกิโลกรัม คือตัวเลขที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกัน

เรามักจะบอกว่า อ้วน หรือไม่อ้วนกันที่ตัวเลขนี้ และก็จะเอาไปใช้ในการคำนวณกับส่วนสูงเพื่อหาค่าดัชนีมวลกาย (BMI = Body Mass Index) ออกมา โดยค่าดัชนีมวลกายในคนไทยที่ถือว่าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคือระหว่าง 18.5 – 22.9

และตัวเลข BMI นี่ละครับ ที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้มากพอสมควร เพราะคนที่ BMI สูงอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นคนที่อ้วน และก็เช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม คนที่ BMI ต่ำก็อาจจะไม่ใช่เป็นคนที่ผอม

คนที่ BMI สูงอาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นคนที่อ้วน และก็เช่นเดียวกันในทางตรงกันข้าม คนที่ BMI ต่ำก็อาจจะไม่ใช่เป็นคนที่ผอม


มวลไขมัน (Fat mass) คืออะไร

เหตุผลที่ทำให้คนที่ BMI ต่ำอาจจะไม่ได้เป็นคนผอม เพราะนั่นมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในน้ำหนักนั่นเองครับ สิ่งนั้นคือคือ มวลไขมัน (Fat mass)

มวลไขมัน คือ น้ำหนักของไขมันเป็นกิโลกรัมที่อยู่ในร่างกายของเรา ไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนัง ไขมันที่อยู่ในอวัยวะภายในเช่นตับ หรือที่อื่นๆ เอามาบวกกันทั้งหมดก็จะคือตัวเลขนี้ หน่วยเป็น กิโลกรัม และจะคิดเป็น % ต่อน้ำหนักตัวให้ ที่เขามักจะเรียกกว่า % Body fat ครับ

โดยไขมันที่ร่างกายสะสมไว้ตามส่วนต่างๆของร่างกายนั้นมีความสำคัญในแง่ของการรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ เป็นส่วนรับแรงกระแทกระหว่างข้อต่อต่างๆ และเป็นส่วนที่ปกป้องอวัยวะภายในช่องทาง และอันสุดท้ายคือเป็นแหล่งพลังงานสำรองนั่นเอง

ไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) ไขมันในช่องท้อง (visceral fat) คืออะไร

โดยไขมันที่เรามักจะสังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือ ไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) ที่อยู่ใต้ท้องแขน รอบเอว ก้น และ ขา แล้วแต่ว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง การกระจายก็จะแตกต่างกันไปตามเพศและพันธุกรรมของแต่ละคน

ส่วนไขมันที่เรามองไม่เห็นและมีความอันตรายมากกว่าคือ ไขมันที่เกาะอยู่ในช่องท้องรอบๆตับของเรา มีชื่อเรียกว่า Visceral fat ครับ อันนี้คือสิ่งที่ทำให้คนเป็นโรคเบาหวานหรือมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดแบบที่เกิดในปัจจุบัน อันนี้เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เรามักจะเจอตอนที่ไปตรวจร่างกายประจำปี แล้วหมอได้ทำอัลตราซาวด์ช่องท้องแล้วบอกว่ามีไขมันพอกตับนั่นเองครับ

โดยส่วนของไขมันใต้ผิวหนัง (subcutaneous fat) ไม่ได้มีความอันตรายในแง่ของโรคภัย แถมยังช่วยทำตัวเป็นฉนวนกันความหนาวได้อีก มีเพียงข้อเสียเรื่องของความสวยงาม

ส่วนของไขมันตัวร้ายคือ Visceral fat ที่เราควรต้องลด โดยค่าที่เหมาะสมของ Visceral fat คือระหว่าง 0-10 ยิ่งน้อยก็ยิ่งดี ยิ่งมากเกินขึ้นไปเรื่อยๆความเสี่ยงก็จะมากขึ้นครับ


% Body fat คืออะไร

กลับมาที่ % Body fat กันอีกครั้ง ตัวเลขนี้มักจะบ่งบอกถึงปริมาณของไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังโดยนัย คือถ้า % Body Fat สูงก็มักจะมีไขมันใต้ผิวหนังมาก ถ้าตัวเลข % ต่ำมากๆ ก็มักจะแทบไม่มีไขมันใต้ผิวหนังอยู่เลย

ให้คิดถึงภาพของนักเพาะกายครับ (% Body fat ของนักเพาะกายอาจจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติมาก เช่น 5% ในผู้ชาย) หรือถ้าเป็นผู้ชายที่สนใจอยากให้มีกล้ามท้องหรือผู้หญิงที่อยากมีร่อง 11 ตัวเลข % Body ก็คือตัวเลขที่พวกเขาจะพยายามลดไขมันใต้ผิวหนังมาให้ได้ครับ

ตัวเลข Fat Mass , % Body fat จะไปในทิศทางเดียว และอาจจะไปในทิศทางเดียวกันกับ Visceral Fat หรือในทางตรงกันข้ามกันก็ได้

เพราะหลักการเกิด ไขมันใต้ผิวหนัง กับ ไขมันในช่องท้อง นั้นเกิดจากคนละสาเหตุในกระบวนการที่ต่างกัน และนี่คือเรื่องของ Fat mass และ Visceral fat ที่เครื่องชั่งน้ำหนักทั่วไปไม่ได้บอกเรา และมีความสำคัญอย่างมากครับ เพราะคนที่น้ำหนักตัวปกติ แต่ถ้า Visceral fat เกินเกณฑ์อาจจะเป็นโรคหัวใจหรือเบาหวาน ก่อนคนที่น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์แต่ Visceral fat ปกติ


มวลกล้ามเนื้อ (Muscle mass)

ประเด็นต่อมาที่อยากให้ความสนใจก็คือ “มวลกล้ามเนื้อ” (Muscle mass) นั่นเองครับ หน่วยเป็นกิโลกรัม คนที่น้ำหนักเยอะเพราะสัดส่วนกล้ามเนื้อเยอะ (แต่มีไขมันน้อยมาก) กลุ่มนี้อาจจะเรียกว่าอ้วนโดยนิยามของ BMI แต่ในทางชีววิทยาเขาอาจจะไม่ใช่คนอ้วน

และถ้าเป็นคนที่น้ำหนักปกติแต่สัดส่วนของกล้ามเนื้อน้อยกว่าปกติและมี Visceral fat ที่สูง กลุ่มนี้ทางการแพทย์จะมีคำนิยามที่เรียกว่า TOFI ย่อมาจาก Thin outside, Fat inside ครับ คือ ดูเหมือนจะผอมตามนิยาม BMI แต่จริงๆภายในคืออ้วนนั่นเอง

TOFI ย่อมาจาก Thin outside, Fat inside

การมีสัดส่วนของกล้ามเนื้อที่มากคือการเพิ่มอัตราการเผาผลาญพลังงานพื้น (Basal metabolic rate BMR) ที่มากขึ้นนั่นเอง คนสองคนน้ำหนักเท่ากัน แต่การใช้พลังงานของร่างกายไม่เท่ากันโดยเพื่อเหตุผลทางสุขภาพแล้ว สิ่งที่อยากให้สนใจที่สุด ย้ำอีกครั้งก็คือ ตัวไขมันที่เกาะอยู่ในช่องท้อง หรือ Visceral fat


บทสรุป

และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของราวของ ตัวเลขบนตาชั่งน้ำหนัก ที่เป็นข้อมูลที่ควรทราบเพื่อสุขภาพของเราทุกคนครับ ถามว่าเครื่องชั่งแบบนี้สามารถไปหาตรวจได้ที่ไหน ที่ Fitness ใหญ่ๆมักจะมีให้บริการครับ

เราอาจจะไปลองทดลองเล่นดูแล้วขอวัดสัดส่วนของร่างกายก็จะได้ค่าแบบนี้มา หรือปัจจุบันเครื่องชั่งแบบใช้ตามบ้านที่มีตัวเลขแบบนี้แสดงก็เช่นเครื่องชั่งของ Xiaomi ครับตัวรุ่น smart body ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก

2 thoughts on “การวิเคราะห์น้ำหนักตัวของเราอย่างถูกต้อง

  1. Vee says:

    Xiaomi รุ่น Smart Body มีความแม่นยำเรื่องตัวเลข/ ข้อมูลที่ได้ เทียบเท่ากับเครื่องชั่งที่ Fitness ไหมคะ?

    • Dr. Akkavich says:

      เครื่องชั่งที่ Fitness เท่าที่ผมเห็นจะเป็น Tanita ตัวใหญ่ซึ่งมีความแม่นยำมากกว่า ตัว Xiaomi Smart Body แนะนำให้ใช้เป็นการดูแนวโน้มเพื่อเปรียบเทียบว่าเป็นขึ้นหรือลง มากกว่าจะไปดูว่าค่าตัวเลขเป็นเท่าใดครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *