ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) เพื่อนแท้เวลาหิว

ชื่ออาจจะเริ่มฟังไม่คุ้นหู แต่เลปตินเป็นฮอร์โมนที่ควรทำความรู้จักเป็นอย่างยิ่งครับ เลปติน (Leptin) มีชื่อมาจากภาษากรีกคำว่า Leptos ซึ่งแปลว่า “ผอม” ดังนั้น เลปติน (Leptin) ก็คือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความผอมนั่นเอง

เลปติน (Leptin) ถูกสร้างจากเซลล์ไขมัน (adipose tissue) และจากเซลล์ของลำไส้เล็ก โดยหน้าที่ของเลปติน คือการส่งสัญญาณไปยังต่อมไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ให้อิ่ม นั่นคือบอกว่าให้หยุดกินได้แล้ว (เห็นอะไรไหมครับว่า จริงๆการที่เราหยุดกิน ไม่ได้ใจเราบอกให้หยุดกิน แต่ส่วนหนึ่งคือฮอร์โมนเลปตินนั้นถูกส่งไปบอกสมองให้เราหยุดกิน)

ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ทำงานอย่างไร

ในคนปกติ เมื่อเราทานอาหารแบบไม่ได้คุมมากขึ้น น้ำหนักตัวเราขึ้น ปริมาณไขมันเราขึ้น เลปตินในร่างกายเราจะสูงขึ้น ดังนั้น เราก็จะกินน้อยลง (เพื่อลดการสะสมไขมัน) เคลื่อนไหวมากขึ้น (เพื่อเบิร์นไขมันออก)

ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรากินน้อยลง น้ำหนักตัวเราลด ปริมาณไขมันเราลดลง เลปตินในร่างกายก็จะลดลง ดังนั้นเราก็จะกินมากขึ้น (เพื่อเพิ่มการสะสมไขมัน) และเคลื่อนไหวน้อยลง (เพื่อสงวนพลังงาน)

ในแง่ของวิวัฒนาการนั้น ร่างกายเรามีไขมันสะสมน้อยมาก ดังนั้นเลปตินในร่างกายจะไม่สูง เราจึงถูกสมองสั่งให้กินอยู่เรื่อยๆเมื่อมีโอกาส เพื่อให้มีพลังงานพอสำหรับการใช้ชีวิตและเอาตัวรอด เราจึงเปรียบเลปตินไม่ต่างจาก ฮอร์โมนป้องกันความอดอยาก หรือ starvation hormone ส่วนในปัจจุบันที่อาหารมีล้นโลกเราเรียกมันในทางตรงกันข้ามว่า ฮอร์โมนแห่งความอิ่ม หรือ satiety hormone

เลปติน สัมพันธ์กับน้ำหนักได้อย่างไร

มีการทดลองที่ทำหนู 2 ตัวมาทดลอง โดยหนู 1 ตัวมีสภาวะเลปตินฮอร์โมนที่ปกติ แต่อีก 1 ตัวถูกดัดแปรงพันธุกรรมให้ฮอร์โมนเลปตินหายไป ผลปรากฎคือ หนูตัวที่ไม่มีฮอร์โมนเลปตินนั้นกินตลอดเวลาและกินทั้งวันจนน้ำหนักขึ้น

แต่ในชีวิตจริงของคนเรา คนที่อ้วนนั้นไม่ได้มีปัญหาที่ขาดฮอร์โมนเลปตินแบบหนูที่ยกตัวอย่างไว้ แต่กลับพบว่าคนอ้วนส่วนใหญ่มีฮอร์โมนเลปตินมากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ

เหตุผลคือ เพราะเลปตินถูกสร้างจากเซลล์ไขมัน ใครที่มีไขมันมากก็ย่อมมีเลปตินมาก แต่ปัญหาของคนอ้วนนั้นไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของเลปติน แต่กลับเป็นการตอบสนองต่อเลปตินในร่างกายเรา คือ มันดื้อนั่นเอง (leptin resistance)

ภาวะดื้อเลปติน (Leptin resistance)

ฟังแล้วคุ้นๆไหมครับ สาเหตุของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus type 2) นั้นเกิดจาก “ภาวะดื้ออินซูลิน” (Insulin resistance) แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึง “ภาวะดื้อเลปติน” (Leptin resistance)

แล้วปัญหาของ “ภาวะดื้อเลปติน” (Leptin resistance) นั่นก็ทำให้เลปตินที่ถูกส่งออกไปยังต่อมไฮโพทาลามัสเพื่อสั่งให้เราหยุดกินนั้นไปไม่ถึง คือ มีสารส่งมาแต่ดันมีกำแพงมาขวาง สมองเราก็สั่งให้เรากินไปเรื่อยๆนั่นเอง (ทั้งๆที่ควรจะอิ่มได้แล้ว) พร้อมกันนั้นยังลดการใช้พลังงานในร่างกาย (เพราะดันคิดว่าร่างกายอยู่ในสภาวะขาดอาหาร) คล้ายๆกับหนูตัวอ้วนที่พร่องฮอร์โมนเลปตินไม่ต่างกัน

ดังนั้นแล้วบทสรุปก็คือการที่เราเชื่อว่าการดื้อต่อเลปตินที่เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสะสมไขมันที่มากขึ้นของคนอ้วน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *