อินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนแห่งความอ้วน

บทความนี้เปิดเรื่องด้วยหัวข้อที่ดูดุดัน แต่เป็นเรื่องที่เราต้องรู้จริงๆครับ เพราะภาวะโรคอ้วนที่ระบาดไปทั่วโลก (Obesity pandemic) นั้นส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดแล้วนั้นมีเจ้าฮอร์โมนอินซูลินอยู่เบื้องหลัง โดยคนส่วนใหญ่มักจะได้ยินคำว่าอินซูลินก็ตอนที่มีคนเอ่ยถึงโรคเบาหวาน ซึ่งจริงๆแล้วนั้นอินซูลินอยู่กับพวกเราทุกคน เพียงแต่คนที่เป็นโรคเบาหวานนั้นมีสาเหตุมาจากการทำงานของอินซูลินที่บกพร่องไป

เอาละครับ ถ้าเราจะสู้กับความอ้วน หรือลดน้ำหนักให้ได้ เจ้าอินซูลินคือสิ่งที่ทุกคนต้องเอาชนะมันให้ได้นั่นเอง

อินซูลิน (Insulin) ทำไมได้ชื่อว่าเป็น ฮอร์โมนแห่งความอ้วน

ทุกครั้งที่เรากินอะไรผ่านเข้าไปในร่างกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ออกมาเสมอ โดยจะหลั่งมากหลั่งน้อยก็อยู่ที่ชนิดของอาหารที่เราทานเข้าไป โดยเมื่อร่างกายมีอินซูลินวิ่งอยู่ในกระแสเลือด อินซูลินจะทำให้ร่างกายเข้าสู่สภาวะเก็บพลังงานเข้าร่างกาย คือ มีการแปลงน้ำตาลที่อยู่ในเลือดเข้าไปเก็บไว้ในตับโดยแปลงเป็นไกลโคเจน เก็บไว้ในกล้ามเนื้อ และสร้างไขมันจากน้ำตาลส่วนเกินที่ตับ (de-novo lipogenesis)

พูดง่ายๆคือ ทุกๆครั้งที่อินซูลินหลั่ง ไขมันสะสมในร่างกายจะเพิ่มขึ้น

เรามีตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงที่เห็นได้ด้วยตาตนเองคือ ในกลุ่มของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น รูปร่างของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะผอมแห้ง ในขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบทั้งหมดจะน้ำหนักเกิน เพราะว่า

  • กลไกการเกิดเบาหวานชนิดที่ 1 คือ ร่างกายไม่มีฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายเลย (เพราะตับอ่อนไม่สามารถสร้างได้)
  • กลไกการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 คือ ร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลินต่อน้ำตาลในกระแสเลือด ทำให้มีฮอร์โมนอินซูลินมากกว่าปกติ

เราจึงเห็นบทสรุปโดยนัยยะว่าถ้าเราสามารถลดการหลั่งอินซูลินโดยร่างกายได้ น้ำหนักเราก็ก็ควรที่จะลดลงได้ตามลำดับ ดังนั้นการลดน้ำหนัก เป้าหมายที่เราควรเล็งให้โดนคือการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินนั่นเอง


หน้าที่ของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)

ส่วนใหญ่ในหนังสือจะเขียนเพียงแค่ว่า ถ้าเรากินของหวานเข้าไปในร่างกาย ของหวานจะถูกย่อยจนกลายเป็นกลูโคสอยู่ในกระแสเลือด และหลังจากนั้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาเพื่อเอากลูโคสเหล่านี้ไปกักเก็บยังเซลล์ต่างๆของร่างกายนั่นเอง แต่จริงๆแล้ว หน้าที่ของอินซูลินที่สำคัญอีกอย่างคือ

ฮอร์โมนอินซูลินเป็นตัวเปิดปิดสวิตซ์ระบบการเผาผลาญพลังงานของการ ถ้าถูกเปิดอยู่ (อินซูลินหลั่ง) จะเป็นโหมดสะสมพลังงาน ถ้าถูกปิด (อินซูลินไม่หลั่ง) จะเป็นโหมดการใช้พลังงาน นั่นแปลว่าหน้าที่ของอินซูลินจะเป็นทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสะสมพลังงานเข้าร่างกาย

หน้าที่ของอินซูลินจะเป็นทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสะสมพลังงานเข้าร่างกาย

การสะสมพลังงานเข้าร่างกาย มีอะไรบ้าง

  • เพิ่มการสร้างไขมันในร่างกาย (Fat synthesis) ทำให้กลูโคสถูกสร้างเป็น Triglyceride มากขึ้น
  • ลดการสลายไขมันในร่างกาย ลดการเปลี่ยนแปลงของ Triglyceride มาเป็น Fatty acid และ Glycerol

การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินในมนุษย์ไม่เคยมีปัญหามาหลายล้านปี แต่ก่อนเรามีแต่ปัญหาของคนที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ (ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1) จนเมื่อมนุษย์เราสามารถสังเคราะห์อินซูลินขึ้นมาเพื่อใช้ในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 1 ได้เป็นผลสำเร็จจนผู้คิดค้นได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ไป

จนมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาที่ปัญหาของอินซูลินได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นจากที่ขาดกลายเป็นมามีเกิน แต่ดันไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งปัญหานี้เรียกว่า ภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin resistance)


ภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin resistance)

ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) คือ สถานการณ์ที่ร่างกายหลั่งอินซูลินออกมาตลอดเวลาแต่กลับไม่สามารถอินซูลินที่หลั่งออกมาไปใช้งานได้ เช่น

คนทั่วไป

ปกติเมื่อเรากินน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลอยู่เข้าไปในร่างกาย > น้ำตาลในเลือดหรือกลูโคสจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว > ร่างกายจะหลั่งอินซูลินมาเพื่อเอาน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเก็บเข้าเซลล์ > ระดับน้ำตาลในเลือดกลับเข้าสู่ภาวะปกติ > ร่างกายหยุดการหลั่งอินซูลิน

คนที่เริ่มมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน

เมื่อเรากินน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลอยู่เข้าไปในร่างกาย > น้ำตาลในเลือดหรือกลูโคสจะเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว > ร่างกายจะหลั่งอินซูลินมาเพื่อเอาน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดเก็บเข้าเซลล์ > เซลล์ที่จะรับรอน้ำตาลเข้าสู่เซลล์โดยอินซูลินทำงานได้แย่ลง (เพราะเซลล์นี้ดื้อไม่ยอมฟังคำสั่งของอินซูลิน) > ร่างกายเลยสั่งให้หลั่งอินซูลินมากขึ้น (เพื่อให้เซลล์อื่นที่ยังไม่ดื้อยอมทำหน้าที่นี้แทนต่อ) > ระดับน้ำตาลกลับสู่ภาวะปกติ > ร่างกายหยุดการหลั่งอินซูลิน

โดยความดื้อ (resistance) ของเซลล์นี้จากตอนแรกที่ยังไม่ดื้อมาก ร่างกายอาจจะต้องเพิ่มปริมาณอินซูลินเพียงนิดหน่อย เช่น 1% เพื่อให้ทำงานได้เท่าเดิม แต่เมื่อดื้อขึ้นเรื่อยๆ อาจจะต้องหลั่งออกมามากขึ้นหลายร้อย % เพื่อให้ทำงานได้เท่าเดิม นั่นทำให้ร่างกายเรามีอินซูลินอยู่ทั่วมตัวแต่กลับไม่สามารถออกฤทธิ์ได้


เหตุผลที่ทำให้เราดื้อต่ออินซูลิน

ค่อยๆคิดภาพตามผมไปอย่างช้าๆ ทีละขั้นตอนนะครับ

สมมติว่าเป็นคนที่ชอบกินของหวานเป็นประจำ (สมมติว่าเป็นน้ำอัดลมวันละ 1.5 ลิตร ขวดใหญ่สุดเลยละกันนะครับ) น้ำอัดลมขวดนี้มีปริมาณน้ำตาล 155 กรัม (มากกว่าที่ร่างกายต้องการไม่เกินวันละ 24 กรัม ถึงประมาณ 6 เท่า)

น้ำอัดลม เป็นอาหารที่มีค่า Glycemic index และ Glycemic load ที่สูงมาก ทันทีที่ดื่มเข้าไปในร่างกาย แทบจะไม่กี่นาทีระดับน้ำตาลในเลือดร่างกายผมจะพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว

ตับอ่อนของผมเลยสร้างอินซูลินออกมาจำนวนมากเพื่อเก็บ เจ้าน้ำตาล 155 กรัมจากน้ำอัดลมขวดนี้เข้าไปเก็บในร่างกายโดยผ่านกระบวนการหลักที่ตับ (Liver) ของเรา

การเอากลูโคสส่วนเกินในเลือดไปเก็บ ร่างกายไม่ได้อยู่ดีๆเอากลูโคสไปฝากไว้ในเซลล์แล้วบอกลาแบบนั้นนะครับ โดยอินซูลินนั่นเองจะพากลูโคสไปบอกเซลล์ตับของเราว่าช่วยเก็บกลูโคสที่เกินนี้ให้หน่อย (ประมาณว่าขอฝากไว้ก่อน เดี๋ยวรอตอนที่จะเอาออกมาใช้จะมาแจ้งอีกครั้ง)

ตับ (Liver) ก็จะรับคำสั่งมาและนำกลูโคสส่วนแรกเก็บไว้ในรูปของ ไกลโคลเจน (Glycogen) แต่ปริมาณไกลโคลเจนที่ร่างกายต้องการสำรองไว้นั้นมีเพียงไม่มาก ไม่นานนักก็เต็ม ร่างกายเลยต้องเก็บไว้ในส่วนถัดมาคือในรูปของไขมัน (De novo lipogenesis) ไว้ในเซลล์ตับ ลำพังถ้ามีกลูโคสไม่มากนัก สต็อคในตับเราก็เพียงพอจะให้เปลี่ยนจากกลูโคสมาเป็นกรดไขมันเก็บไปเรื่อยๆได้

ถ้าผมกินน้ำอัดลม 1.5 ลิตร แค่วันเดียว หลังจากนั้นกินคลีนทุกวัน วันที่ผมกินคลีนก็คือวันที่ให้โอกาสร่างกายในการชำระล้างนั่นเอง ค่อยๆให้ตับเอากรดไขมัน (ที่มาจากการแปลงกลูโคส) ไปใช้ให้หมด ตับของผมจะได้มีพื้นที่ว่างในการรอเปลี่ยนน้ำอัดลม 1.5 ลิตรชุดใหม่ที่กำลังจะฉลองในวันศุกร์หน้า

แต่ผมดันใจร้อนอดใจไม่ไหว ซัดน้ำอัดลม 1.5 ลิตรทุกวันติดต่อกัน 1 เดือนเต็มครับ ผลคืออะไร ทุกอย่างเหมือนเดิมหมด แต่ปัญหาดันไปอยู่ที่ตับ พื้นที่ของตับอัดแน่นไปด้วยไขมันที่ท่วมไปหมดแล้ว อาการนี้เรียกว่า “ไขมันพอกตับ” (Fatty liver) โดยเป็นไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากแอลกฮอล์ (มีชื่อเรียกทางการแพทย์เท่ห์ๆว่า Nonalcoholic fatty liver disease, NAFLD)

ไขมันที่อัดแน่นไปในตับแน่นไปทุกพื้นที่จนอินซูลินมีความยากมากขึ้นเรื่อยๆที่จะแปลงกลูโคสเข้าไปเก็บในเซลล์ตับเพิ่ม ก็เลยมีน้ำตาลบางส่วนที่อยู่ระหว่างการรอการเจ็บเหลือท้นอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งความวิกฤตก็เกิดตามมานั่นเอง

คิดทันกันไหมครับว่า ความวิบัติที่เกิดขึ้นตามมาคืออะไร เนื่องจากน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือดที่มากขึ้น ก็ทำให้ร่างกายต้องหลั่งอินซูลินมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ยิ่งตับอัดแน่นไปด้วยไขมันที่พอกอยู่เต็มไปหมด ร่างกายเราก็สร้างๆๆๆๆๆ อินซูลินขึ้นมาแบบไม่เพดาน จนในที่สุดก็มันก็ดื้อเข้าจนได้นั่นเองครับ

ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty liver) คือ ต้นเหตุของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินนั่นเองครับ

มาถึงตรงนี้เราน่าจะพอคาดเดาได้แล้วใช่ไหมครับ ภาวะดื้ออินซูลิน นั้นปลายทางคืออะไร นั่นคือ น้ำหนักที่ขึ้นไปเรื่อยๆจนอ้วน และพอถึงจุดหนึ่ง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เราคุ้นเคยกันก็จะมาเคาะประตูอยู่หน้าบ้าน


สาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน

เบาหวาน มีชื่อโรคในภาษาอังกฤษคือ Diabetes Mellitus มี 4 ชนิด คือ

  1. ชนิดที่ 1 เกิดในเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนมาก กลไลของโรคคือร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เลย เพราะเซลล์ที่สร้างในตับอ่อนนั้นถูกทำลายโดยระบบภูมิต้านทานของร่างกายเอง (Autoimmune) โดยคนกลุ่มนี้จะมีรูปร่างผอมบาง ซึ่งไม่เหมือนภาพของคนเบาหวานที่เรามักเห็นว่าอ้วน
  2. ชนิดที่ 2 เกิดในวัยผู้ใหญ่เป็นหลัก กลไกลของโรคคือจากภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลิน (resistance) มีเซลล์ในตับอ่อนสร้างอินซูลินได้เหมือนปกติ แต่กลับทำงานไม่ได้เหมือนปกติ คนกลุ่มนี้จะมีรูปร่างที่อ้วน
  3. ชนิดเกิดในหญิงตั้งครรภ์ (Gestational) เนื่องจากในหญิงตั้งครรภ์ทุกคนในช่วงครรภ์ที่ราวๆ 6-7 เดือน จะมีภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลินตามธรรมชาติ มากน้อยแตกต่างกันไป หลังจากตั้งครรภ์เสร็จจะหายได้เอง

เราจะรักษาภาวะดื้อฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างไร

ต้นเหตุคืออะไร ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุนั่นเองครับ

  • เราต้องลดปริมาณอาหารที่จะกระตุ้นให้อินซูลินหลั่งลง นั่นคือ การลดการทานแป้งลงนั่นเอง
  • เราต้องจำกัดปริมาณมื้ออาหารที่กิน ไม่กินจุกจิก กินเป็นมื้อๆ เพราะทุกครั้งที่มีอะไรเข้าปากนั่นคืออินซูลินก็เริ่มทำงานแล้ว
  • ถ้าต้องกินแป้งจริงๆ ให้เลือกทานแป้งที่มีค่า Glycemic Index ต่ำ พร้อมๆกับค่า Glycemic load ที่ไม่สูงมากไปในเวลาเดียวกัน เช่น เลือก ข้าวกล้องแทนข้าวขาว เลือก ขนมปังโฮลวีตแทนขนมปังขัดสี

อินซูลิน สรุปแล้วเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย

ที่ผมเขียนมาทั้งหมดผมไม่ได้ต้องการให้มองว่าฮอร์โมนอินซูลินเป็นผู้ร้ายนะครับ ร่างกายเราขาดฮอร์โมนชนิดนี้ไม่ได้ ถ้าร่างกายเราขาดไป สภาพของเราจะไม่ต่างจากผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 อาการคืออย่างไรรู้ไหมครับ

คนที่ไม่มีอินซูลินในร่างกายเลย ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงมาก (ต่อให้ไม่กินอะไรเลย น้ำตาลในเลือดก็ยังคงสูงอยู่) เมื่อปัสสาวะออกมาก็จะพบน้ำตาลในฉี่เยอะมาก เยอะจนมดมาตอม ปัสสาวะเราจะเยอะมากจากความเข้มข้นของน้ำตาลในฉี่จะดึงน้ำออกมาจากทั้งร่างกาย ทำให้เราหิวน้ำมากอีก ร่างกายจะอยู่ในสภาพที่แห้งกรอบอย่างหนัก แถมยังไม่สามารถนำกลูโคสที่มีนั้นไปใช้เป็นพลังงานได้ (เพราะไม่มีอินซูลินในการพากลูโคสเข้าเซลล์) ก็จะทำให้เหมือนร่างกายหิวอยู่ตลอดเวลาทั้งๆที่น้ำตาลท่วมอยู่ในเลือด แล้วสุดท้ายก็เราจะเสียชีวิตในเวลาที่ผ่านไปไม่นาน

ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ฮอร์โมนอินซูลินไม่ใช่แค่พระเอกแต่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระเจ้า ณ วินาทีที่ๆมนุษย์สามารถสังเคราะห์มันขึ้นมาได้ครับ

สำหรับคนทั่วไป อินซูลินจะลดความสำคัญลงจากพระเจ้าลงมาเป็นพระเอก เพราะการนำกลูโคสเข้าเซลล์ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญของการได้มาซึ่งพลังงานนั้นต้องใช้อินซูลินทั้งหมด การนำกลูโคสเก็บในตับ การนำกลูโคสเข้าเซลล์กล้ามเนื้อเพื่อเผาผลาญพลังงานออกแรง การนำกลูโคสเข้าเซลล์สมองเพื่อเป็นอาหารสมอง ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับอินซูลินทั้งหมด

อินซูลินจะกลายเป็นผู้ร้ายก็เฉพาะช่วงเดียวคือช่วงที่ร่างกายเราอยู่ในภาวะดื้อต่ออินซูลินนั่นเองครับ ซึ่งภาวะดื้อนี้ๆ มันไม่ได้อยู่ดีๆเกิดขึ้นมาเอง เพราะในยุคปัจจุบันเป็นตัวเราเองนี่ละครับทำให้ให้มันดื้อ และเป็นคนผลักเจ้าอินซูลินไปยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเราด้วยน้ำมือของเราแท้ๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *