วันนี้จะขอมาสรุปฮอร์โมนของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับ น้ำหนักตัวทั้งหมด เรียกได้ว่าอ่านครบอันนี้ ได้ไอเดียเรื่องฮอร์โมนเป็นอาหารว่างสำหรับสมองนะครับ
โดยเราอาจจะแบ่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวได้ออกมาเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มที่ทำให้น้ำหนักตัวขึ้น เมื่อมีมากขึ้น เช่น อินซูลิน (Insulin),เกรลิน (Ghrelin), Neuropeptide Y, คอร์ติซอล (Cortisol)
- กลุ่มที่ทำให้น้ำหนักตัวลง เมื่อมีมากขึ้น เช่น เลปติน (Leptin), GLP-1, Peptide YY, CCK
โดยฮอร์โมนแต่ละชนิดมีรายละเอียดดังนี้
อินซูลิน (Insulin)
ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนที่สำคัญที่สุดในแง่ของน้ำหนัก ถูกสร้างจากเซลล์ในตับอ่อน น้ำตาลมีผลโดยตรงต่อการหลั่งอินซูลินเข้ามาในกระแสเลือด โดยหน้าที่ของอินซูลินคือการทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดกลับเข้าไปอยู่ในเซลล์ และอินซูลินจะหยุดการหลั่งลงเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเข้าสู่สภาวะปกติ
ฮอร์โมนที่ทำงานตรงกันข้ามกับอินซูลินคือ กลูคากอน (Glucagon) ซึ่งจะทำหน้าที่ตรงกันข้ามกัน ในยามที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง ร่างกายจะหลั่งกลูคากอนออกมา เพื่อทำการดึงน้ำตาลออกมาจากเซลล์ให้กลับไปอยู่ในกระแสเลือดแล้วส่งต่อไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย
อ่านเรื่องฮอร์โมนอินซูลินอย่างละเอียดได้ที่นี่ อินซูลิน (Insulin) ฮอร์โมนแห่งความอ้วน
เลปติน (Leptin)
ชื่ออาจจะเริ่มฟังไม่คุ้นหู แต่เลปตินเป็นฮอร์โมนที่ควรทำความรู้จักเป็นอย่างยิ่งครับ เลปติน (Leptin) มีชื่อมาจากภาษากรีกคำว่า Leptos ซึ่งแปลว่า “ผอม” ดังนั้น เลปติน (Leptin) ก็คือฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความผอมนั่นเอง
เลปติน (Leptin) ถูกสร้างจากเซลล์ไขมัน (adipose tissue) และจากเซลล์ของลำไส้เล็ก โดยหน้าที่ของเลปติน คือการส่งสัญญาณไปยังต่อมไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ให้อิ่ม นั่นคือบอกว่าให้หยุดกินได้แล้ว (เห็นอะไรไหมครับว่า จริงๆการที่เราหยุดกิน ไม่ได้ใจเราบอกให้หยุดกิน แต่ส่วนหนึ่งคือฮอร์โมนเลปตินนั้นถูกส่งไปบอกสมองให้เราหยุดกิน)
ฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ทำงานอย่างไร
ในคนปกติ เมื่อเราทานอาหารแบบไม่ได้คุมมากขึ้น น้ำหนักตัวเราขึ้น ปริมาณไขมันเราขึ้น เลปตินในร่างกายเราจะสูงขึ้น ดังนั้น เราก็จะกินน้อยลง (เพื่อลดการสะสมไขมัน) เคลื่อนไหวมากขึ้น (เพื่อเบิร์นไขมันออก)
ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรากินน้อยลง น้ำหนักตัวเราลด ปริมาณไขมันเราลดลง เลปตินในร่างกายก็จะลดลง ดังนั้นเราก็จะกินมากขึ้น (เพื่อเพิ่มการสะสมไขมัน) และเคลื่อนไหวน้อยลง (เพื่อสงวนพลังงาน)
ในแง่ของวิวัฒนาการนั้น ร่างกายเรามีไขมันสะสมน้อยมาก ดังนั้นเลปตินในร่างกายจะไม่สูง เราจึงถูกสมองสั่งให้กินอยู่เรื่อยๆเมื่อมีโอกาส เพื่อให้มีพลังงานพอสำหรับการใช้ชีวิตและเอาตัวรอด เราจึงเปรียบเลปตินไม่ต่างจาก ฮอร์โมนป้องกันความอดอยาก หรือ starvation hormone ส่วนในปัจจุบันที่อาหารมีล้นโลกเราเรียกมันในทางตรงกันข้ามว่า ฮอร์โมนแห่งความอิ่ม หรือ satiety hormone
เลปติน สัมพันธ์กับน้ำหนักได้อย่างไร
มีการทดลองที่ทำหนู 2 ตัวมาทดลอง โดยหนู 1 ตัวมีสภาวะเลปตินฮอร์โมนที่ปกติ แต่อีก 1 ตัวถูกดัดแปรงพันธุกรรมให้ฮอร์โมนเลปตินหายไป ผลปรากฎคือ หนูตัวที่ไม่มีฮอร์โมนเลปตินนั้นกินตลอดเวลาและกินทั้งวันจนน้ำหนักขึ้น
แต่ในชีวิตจริงของคนเรา คนที่อ้วนนั้นไม่ได้มีปัญหาที่ขาดฮอร์โมนเลปตินแบบหนูที่ยกตัวอย่างไว้ แต่กลับพบว่าคนอ้วนส่วนใหญ่มีฮอร์โมนเลปตินมากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ
เหตุผลคือ เพราะเลปตินถูกสร้างจากเซลล์ไขมัน ใครที่มีไขมันมากก็ย่อมมีเลปตินมาก แต่ปัญหาของคนอ้วนนั้นไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของเลปติน แต่กลับเป็นการตอบสนองต่อเลปตินในร่างกายเรา คือ มันดื้อนั่นเอง (leptin resistance)
ภาวะดื้อเลปติน (Leptin resistance)
ฟังแล้วคุ้นๆไหมครับ สาเหตุของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes Mellitus type 2) นั้นเกิดจาก “ภาวะดื้ออินซูลิน” (Insulin resistance) แต่ตอนนี้เรากำลังพูดถึง “ภาวะดื้อเลปติน” (Leptin resistance)
แล้วปัญหาของ “ภาวะดื้อเลปติน” (Leptin resistance) นั่นก็ทำให้เลปตินที่ถูกส่งออกไปยังต่อมไฮโพทาลามัสเพื่อสั่งให้เราหยุดกินนั้นไปไม่ถึง คือ มีสารส่งมาแต่ดันมีกำแพงมาขวาง สมองเราก็สั่งให้เรากินไปเรื่อยๆนั่นเอง (ทั้งๆที่ควรจะอิ่มได้แล้ว) พร้อมกันนั้นยังลดการใช้พลังงานในร่างกาย (เพราะดันคิดว่าร่างกายอยู่ในสภาวะขาดอาหาร) คล้ายๆกับหนูตัวอ้วนที่พร่องฮอร์โมนเลปตินไม่ต่างกัน
ดังนั้นแล้วบทสรุปก็คือการที่เราเชื่อว่าการดื้อต่อเลปตินที่เองที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสะสมไขมันที่มากขึ้นของคนอ้วน
เกรลิน (Ghrelin)
ถ้าเลปตินคือฮอร์โมนแห่งความอิ่ม เกรลิน (Ghrelin) ก็คือสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม นั่นคือ ฮอร์โมนแห่งความหิว
เกรลิน (Ghrelin) ถูกสร้างจากเซลล์ในทางเดินอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณกระเพาะอาหารโดยจะส่งสัญญาณไปยังต่อมใต้สมอง (pituitary gland) และไฮโพทาลามัส (hypothalamus) ฮอร์โมนเกรลินในร่างกายจะสูงที่สุดคือตอนก่อนกินอาหาร (คือช่วงที่หิวมาก) และหลังจากที่กินเสร็จแล้ว เกรลินก็จะค่อยๆลดลงจนกลับมาเป็นปกติ
โดยระหว่างที่เกรลินเริ่มหลั่งออกมานั้น จะช่วยเพิ่มการเคลื่อนที่ของกระเพาะอาหารและการหลั่งกรดในกระเพาะเพื่อเป็นสัญญาณเตรียมรับอาหารที่กำลังจะมาถึง
เกรลิน (Ghrelin) กับ น้ำหนักตัว
ในคนที่น้ำหนักเกิน เมื่อไปตรวจระดับฮอร์โมนเกรลินแล้วจะพบว่ามีค่าน้อยกว่าคนที่น้ำหนักตัวปกติ แต่กลับมีการตอบสนองที่มากกว่า ซึ่งการตอบสนองต่อเกรลินที่มากกว่านี้เองที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้หิวง่ายและกินมากขึ้น
คนที่ลดน้ำหนักด้วยการอดอาหารเพื่อคุมแคลอรีนั้น จะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะที่หิว คือมีฮอร์โมนเกรลินหลั่งออกมาในจำนวนที่มาก และเมื่อเกรลินหลั่งมาก เลปตินก็จะหลั่งลดลงทันที (สองฮอร์โมนนี้ทำงานตรงข้ามกัน) เมื่อเลปตินหลั่งลดลงนั้นเราก็จะกินมากขึ้น (เพื่อเพิ่มการสะสมไขมัน) และเคลื่อนไหวน้อยลง (เพื่อสงวนพลังงาน) ซึ่งจะทำให้เกิดผลลัพธ์ตรงกันข้ามและหนึ่งในนั้นก็คือ โยโย่เอฟเฟค
นิวโรเปปไทด์วาย (Neuropeptide Y)
นอกจากเกรลินแล้ว ฮอร์โมนที่มีชื่อว่า นิวโรเปปไทด์วาย (Neuropeptide Y) ก็มีหน้าที่เกี่ยวกับความอยากอาหารเช่นเดียวกัน โดยจะทำให้เรากินอาหารมากขึ้น
Glucagon-Like peptide-1
Glucagon-Like peptide-1 มีชื่อย่อว่า GLP-1 โดยฮอร์โมน GLP-1 นั้นถูกสร้างจากเซลล์ที่บุผนังนำไส้เล็ก โดยฮอร์โมน GLP-1 จะถูกหลั่งออกมาเมื่อเรามีการปรับประทานอาหารเข้ามาในท้อง
หน้าที่ของ GLP-1
- ทำให้การหลั่งอินซูลินมากขึ้น เพื่อไปลดระดับน้ำหนักในเลือด (เพราะเมื่อเรากินอาหารเข้ามาในท้อง น้ำตาลเราจะเริ่มมากขึ้น ร่างกายเลยต้องหลั่ง GLP-1 มาช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินอีกทางนั่นเอง)
- ทำให้เราอิ่มเร็วมากขึ้น อันนี้เป็นหน้าที่พิเศษ โดยจะทำให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านกระเพาะอาหารช้าลง (decrease gastric emptying) คือมีเวลาดูดซึมมากขึ้น นั่นทำให้เราอิ่มได้เร็วและง่ายขึ้นนั่นเอง รวมถึงกินน้อยลง (ถ้าอาหารผ่านกระเพาะอาหารเร็วมาก เราจะกินจุ ลองคิดภาพแชมปเปี้ยนกินฮอทดอกครับ เขาต้องรีบยัดทุกอย่างให้เร็วที่สุดก่อนที่กระเพาะจะขยายตัวจนบอกให้เรานั่นเอง)
จะเห็นว่าหน้าที่ของ GLP-1 ทั้ง 2 หน้าที่เหมือนจะทำงานสวนทางกัน โดย ทำให้หลั่งอินซูลินมากขึ้น (น่าจะทำให้น้ำหนักมากขึ้น) และ ทำให้อิ่มเร็วและกินน้อยลง (ผลทำให้อินซูลินหลั่งน้อยลง น้ำหนักลดลง) แต่เนื่องจากฤทธิ์การกระตุ้นการหลั่งอินซูลินนั้นเป็นเพียงช่วงสั้นๆ ผลของการลดการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารนั้นมากกว่า
สรุปโดยรวม GLP-1 เมื่อหลั่งมากขึ้น จะมีผลให้น้ำหนักลดลงได้ครับ โดย GLP-1 ในปัจจุบันก็มีการสังเคราะห์นำไปใช้เป็นกลุ่มของยาลดน้ำหนักที่ใช้ในโรงพยาบาลแล้ว
Cholecystokinin
มีชื่อย่อว่า CCK ฮอร์โมนนี้มีหน้าที่คล้ายกับ GLP-1 คือจะหลั่งออกจากมาเซลล์ในลำไส้เล็ก ทำให้เราอิ่มเร็วมากขึ้น อันนี้เป็นหน้าที่พิเศษ โดยจะทำให้อาหารเคลื่อนที่ผ่านกระเพาะอาหารช้าลง (decrease gastric emptying) โดยจะเริ่มหลั่งออกมาทันทีหลังจากที่เราเริ่มรับประทานอาหาร
นอกจากบทบาทด้านความอิ่มแล้ว ฮอร์โมน CCK นั้นมีบทบาทหลักในแง่ของการย่อยอาหาร โดยจะเป็นตัวกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งน้ำย่อยมาย่อยอาหารต่างๆในทางเดินอาหาร
เราพบว่าในคนที่มีภาวะอ้วน มักจะพบว่าการตอบสนองต่อฮอร์โมน CCK จะลดลง ทำให้เรามีโอกาสที่จะกินมากขึ้น
Peptide YY
เปปไทด์วายวาย (Peptide YY) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากลำไส้เล็กและสำไส้ใหญ่หลังจากการทานอาหาร มีหน้าที่ทำให้เรามีความอยากอาหารลดลง โดยจะไปลดการเคลื่อนผ่านของอาหารที่กระเพาะทำให้เราอิ่มได้เร็วขึ้น
ในคนอ้วนมักจะมีการหลั่ง Peptide YY ที่น้อยกว่าคนปกติ และพบว่าการทานอาหารที่โปรตีนสูงจะทำให้ร่างกายหลั่ง Peptide YY เพิ่มมากขึ้นได้
คอร์ติซอล (Cortisol)
คอร์ติซอล (Cortisol) มีชื่อเรียกว่า “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” (Cortisol) เพราะว่าคอร์ติซอลจะถูกสร้างขึ้นมามากขึ้นในช่วงที่เรามีภาวะเครียด คอร์ติซอลนั้นถูกสร้างมาจากต่อมหมวกไต (adrenal gland) เป็นฮอร์โมนในกลุ่ม Glucocorticoid ซึ่งถือว่าเป็นสเตียรอยด์ในธรรมชาติในรูปแบบหนึ่ง ถือว่าเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการใช้ชีวิตของมนุษย์มาก (สเตียรอยด์ในร่างกายเรามีความสำคัญและขาดไม่ได้ทุกชนิด สเตียรอยด์ที่น่ากลัวคือสเตียรอยด์ที่เราเอาใส่ร่างกายเข้าไปโดยไม่มีการควบคุมจากแพทย์ครับ)
“จะสู้ หรือ จะหนี” (Fight or Flight) คือ สถานการณ์ที่เกิดในมนุษย์ยุคหิน ยามที่เราอยู่ท่ามกลางฝูงสัตว์กินเนื้อหรือชนเผ่าศัตรู ฮอร์โมนคอร์ติซอลจะหลั่งออกมาอย่างมากมายพร้อมกับอะดรีนาลิน ทำให้ร่างกายมีการนำกลูโคสออกมาใช้เป็นพลังงานอย่างรวดเร็วเพื่อใช้ในการต่อสู้หรือวิ่งหนีจากข้าศึก นอกจากนี้คอร์ติซอลยังทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น และร่างกายเพิ่มการใช้พลังงานมากขึ้น
สำหรับในยุคปัจจุบัน คอร์ติซอลมักจะมาในแง่ของความเครียด นอนไม่หลับ ทำให้คอร์ติซอลที่สูงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น และน้ำหนักก็จะขึ้นมาตามกัน โดยคอร์ติซอลนั้นสัมพันธ์โดยตรงกับความอยากอาหารจำพวกน้ำตาลและไขมัน
การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ทานอาหารแปรรูปเยอะ การไม่ได้ออกกำลังกาย ล้วนเป็นปัจจัยร่วมในการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
บทสรุป
จะเห็นได้ว่ามีฮอร์โมนต่างๆมากมายที่มีส่วนสำคัญในการควบคุมน้ำหนักตัวของเรา โดยบทความนี้ยังไม่ได้กล่าวถึงฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตร (Estrogen) ที่จะมีบทบาทในเพศหญิงต่อน้ำหนักตัว
โดยระบบร่างกายของเรานั้น ฮอร์โมนต่างๆจะมีทั้ง บวก และ ลบ อยู่ตลอดเวลา อะไรที่มีมากไป ร่างกายจะลดมันลงมา ในทางตรงกันข้าม อะไรที่มีน้อยไป ร่างกายก็จะพยายามเพิ่มมันกลับขึ้น และนั่นคือหน้าที่ของฮอร์โมนนั่นเอง
ความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นพันธุกรรม แต่สาเหตุในปัจจุบันจำนวนไม่น้อยมาจากพฤติกรรมของเรา โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้ฮอร์โมนทำงานมากไป หรือน้อยไปจนน้ำหนักขึ้น เช่น
- กินแป้งที่แปรรูปเยอะ ทำให้อินซูลิน คอร์ติซอล หลั่งมากขึ้น น้ำหนักจึงมากขึ้น
- ทานโปรตีนน้อยเกินไป โปรตีนที่พอเหมาะจะทำให้ร่างกาย หลั่ง Peptide YY, CCL และ GLP-1 ทำให้กระเพาะอาหารเคลื่อนที่ช้า อิ่มได้เร็ว กินน้อยลง น้ำหนักลดลง
- พักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียด ทำให้คอร์ติซอล หลั่งมากขึ้น น้ำหนักจึงมากขึ้น
- ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้อินซูลินทำงานได้ดีขึ้น คอร์ติซอลลดลง เลปตินทำงานดีขึ้น น้ำหนักจะลดลง