ทำไมมนุษย์เราถึงกินน้ำทะเลไม่ได้

สัตว์ๆหลายชนิด เช่น ปลา หรือ นกทะเล สามารถกินน้ำทะเลได้ แต่ทำไมมนุษย์ถึงกินน้ำทะเลไม่ได้ แล้วถ้าเกิดต้องไปลอยคออยู่กลางทะเล เราสามารถกินน้ำทะเลเพื่อประทังชีวิตตอนหิวน้ำได้หรือไม่

คำตอบคือ ไม่ได้ แล้วเหตุผลคืออะไร มาทำความเข้าใจกันครับ

ส่วนประกอบของน้ำทะเล

มาดูส่วนประกอบของน้ำทะเลกันก่อน น้ำทะเล 1 ลิตร จะมีความเค็ม (salinity) 3.5% นั่นแปลว่าจะมี เกลืออยู่ 35 กรัม และเกลือในทะเลจะคือเกลือโซเดียมกับคลอไรด์ (Sodium and Chloride) โดยน้ำทะเลทั่วโลกก็จะมีความเค็มที่ไม่เท่ากัน เช่น ถ้าเป็นที่ทะเลเดดซีที่จอร์แดนความเค็มก็จะมากกว่านี้อีกหลายเท่า ก็เรียกว่ามากคนคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นยังลอยตัวได้ครับ


ร่างกายเรามี เกลือ อยู่ปริมาณเท่าใด

แล้วน้ำในร่างกายเรามี % ของเกลืออยู่เท่าไร เวลาเราพูดถึงน้ำในร่างกายในนี้ผมจะหมายถึงเลือดอะไรนะครับ น้ำในร่างกายเรามีโซเดียมอยู่ในช่วง 135 – 145 mEq/L แปลงหน่วยให้เทียบง่ายๆก็คือราวๆ 0.4% คือเลือด 1 ลิตร จะมีเกลือ 4 กรัม (ต่างจากในน้ำทะเล 35/4 = 8.75 เท่า)

สิ่งที่ทำให้เรากินน้ำทะเลเพื่อประทังชีวิตไม่ได้ ก็เพราะไอความแตกต่าง 8.75 เท่า นั้นเองครับ (อาหารที่เรากินทุกวัน ที่เราแนะนำให้ทานเกลือ ก็คือไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน จะได้พอมองเห็นภาพออกนะครับว่า เกลือ 35 กรัมนั้นเยอะขนาดไหน)

ทุกครั้งที่เราทานอาหารที่เค็ม ทำไมเราถึงหิวน้ำบ่อย เพราะว่าไตจะส่งสัญญาณไปให้สมองบอกให้เรากินน้ำ ถามว่าเพื่ออะไร ถ้ามาลองดูกรณีการกินน้ำทะเล เราจะเห็นตัวอย่างคำอธิบายนี้ได้ชัดขึ้น


ไต กับ ความสามารถในการขับเกลือออกจากร่างกาย

ความแตกต่างระหว่างความเข้มข้นของเกลือในน้ำทะเลหลังจากที่เราทานเข้าไปในร่างกาย อย่างที่น่าจะทราบกันดีว่า เมื่อเรากินน้ำที่มีโซเดียมเยอะมากๆ (น้ำทะเล) ไตเราจะขับโซเดียมออก แต่เวลาทุกครั้งที่ไตจะขับโซเดียมส่วนเกินออก ไตไม่สามารถขับออกไปเฉยๆได้ เพราะต้องมีน้ำตามออกไปด้วย

แล้วน้ำนั้นคืออะไร น้ำ นั้นก็คือปัสสาวะที่ออกมานั่นเองครับ แล้วน้ำที่ออกมาในปัสสาวะมาจากไหน น้ำเหล่านี้ก็มาจากเลือดหรือของเหลวที่อยู่ในเส้นเลือดแดงที่วนไปตามส่วนต่างๆของร่างกายและวนมาที่ไตเพื่อเตรียมขับของเสียออก นั่นแปลว่า ไตต้องขับน้ำออกในปริมาณที่มากกว่าปกติเพื่อจะนำโซเดียมส่วนเกินออกไปด้วย

เราจะเริ่มเห็นปัญหาของการกินน้ำทะเลที่มีปริมาณโซเดียมจำนวนมากแล้ว แต่สิ่งที่ต้องรู้ต่อมาคือ ไตเราสามารถขับเกลือออกไปทางปัสสาวะได้ขนาดไหน


ความสามารถในการขับเกลือออกจากร่างกายโดยไต

จากที่กล่าวไว้ตอนแรก น้ำทะเลมีความเค็ม 3.5% จะแปลงหน่วยของ osmolarity ได้ 1000 mOsm/l ไตเราขับปัสสาะได้ความเข้มข้นสูงสุดคือ 1200 mOsm/l แต่ใน 1,200 นี้จะเป็น urea ไปแล้ว 600 จึงเหลือพื้นที่ว่างให้โซเดียมอีกประมาณ 600 mOsm/l อย่าพึ่งสับสนนะครับ (ตัดยูเรียออกจากอันนี้ไปเลยก็ได้ครับ)

แปลได้เข้าใจง่ายๆว่า การจะขับเกลือออกจากร่างกาย 600 mOsm ต้องมีน้ำที่ออกไปด้วยประมาณ 1 ลิตรแล้ว ถ้าเรากินน้ำเกลือ 1 ลิตร แปลว่าต้องมีน้ำในร่างกายสำหรับขับฉี่ถึง 1000/600 = 1.6 ลิตร ซึ่งมันไม่มีแน่ๆครับ

ในทางตรงกันข้าม การกินน้ำเปล่าที่ดื่มๆกันนั้นไม่มีเกลืออยู่เลย ไตจึงไม่จำเป็นต้องใช้ความสามารถใดๆในการกรองเกลือออกไปพร้อมกับน้ำ คือถ้าน้ำเกินก็ขับน้ำทิ้งเปล่าๆได้โดยไม่ต้องขับเกลือออก

จากที่ว่าไว้ ผลลัพธ์ก็คือความเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมนั่นเองครับ เนื่องจากเดิมร่างกายที่ขาดน้ำอยู่แล้ว เรากินน้ำทะเลเข้าไปเพิ่ม กลายเป็นว่าไตขับน้ำออกไปจากร่างกายมากกว่าเดิม (ทั้งๆที่ควรจะเก็บน้ำเอาไว้ในร่างกายในสภาพที่ลอยอยู่กลางทะเล) ผลก็คือ ร่างกายเราจะยิ่งอยู่ในสภาวะขาดน้ำ (dehydration) รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเรื่อยๆ

เรากินน้ำทะเลเข้าไปเพิ่ม กลายเป็นว่าไตขับน้ำออกไปจากร่างกายมากกว่าเดิม (ทั้งๆที่ควรจะเก็บน้ำเอาไว้ในร่างกายในสภาพที่ลอยอยู่กลางทะเล) ผลก็คือ ร่างกายเราจะยิ่งอยู่ในสภาวะขาดน้ำ (dehydration) รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และเรื่อยๆ

นอกจากนี้ปกติในเซลล์ของร่างกายคนเรา ตรงบริเวณผิวเซลล์จะมีเยื่อหุ้นเซลล์ (Cell membrane) ที่มีคุณสมบัติในการอนุญาตให้สารบางอย่างผ่าน ในขณะเดียวกันก็อาจจะไม่อนุญาตให้สารบางอย่างผ่าน (semipermeable) ความแตกต่างขนาดนี้

นั่นแปลว่า ทันทีที่เราดื่มน้ำเกลือเข้าไปในร่างกาย ลองคิดภาพ น้ำเกลือที่อยู่ในเส้นเลือดจะมีปริมาณของโซเดียมที่สูงกว่าในเซลล์ข้างเคียง น้ำจึงถูกเคลื่อนที่ให้ออกจากเซลล์เข้าสู่เส้นเลือด

ผลลัพธ์ คือ เซลล์ของร่างกายก็จะเหี่ยวๆๆ (shrink) มากขึ้นไปเรื่อยๆตามปริมาณความแตกต่างของโซเดียมในเลือดกับในเซลล์ อาการทางสมองก็จะตามมาไล่เรี่ยกันไป


ผลลัพธ์ต่อร่างกายหลังเราดื่มน้ำทะเล

สิ่งที่ร่างกายออกแบบไว้ในยามที่น้ำภายในร่างกายเริ่มจะขาด ก็คือ การเพิ่มชีพจรการเต้นของหัวใจ (heart rate) เพื่อคงปริมาณเลือดที่สูบฉีดไปให้ได้ในปริมาณที่เท่าเดิม (พูดง่ายๆในเมื่อของมันมีน้อยก็เลยต้องเพิ่มความถี่ในการส่งเพื่อให้ผลลัพธ์เท่าเดิม) และ หลอดเลือดทั่วร่างกายจะหดตัวลง (vasoconstriction) เพื่อคงสภาพความดันโลหิตของร่างกายในอยู่ในเกณฑ์ปกติ และร่างกายจะปิดการส่งเลือดไปยังอวัยวะที่ไม่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการชดเชยของร่างกายมีจำกัด ถ้ายังน้ำจืดมาทานไม่ได้ เมื่อถึงเวลาสุดท้าย เราก็จะตายนั่นเองครับ เพราะระบบการชดเชยไม่สามารถรับได้อีก


บทสรุป

สรุปสั้นๆ สำหรับการกินน้ำทะเลเพื่อประทังชีวิตแล้ว ก็คือ เราน่าจะตายเร็วขึ้นกว่าเดิมครับ 555+ อย่าหาทำ เราจะกินน้ำทะเลได้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยแบบอารมณ์ไปดำน้ำในทะเลดูปลาแล้วเผลอสำลักน้ำเข้าไป แต่นั่นไม่ใช่ปัญหามากเพราะพอเราขึ้นเรือเราก็เอาน้ำเปล่าที่ไม่เกลือเข้าไปชดเชยนั่นเอง

เรื่องน่ารู้ เราสามารถกินฉี่ตัวเองได้ไหม

ถามว่า น้ำทะเลก็กินไม่ได้ แล้ว ปัสสาวะ (ฉี่) ตัวเองกินได้หรือเปล่า คำตอบก็คงเหมือนกันครับ ฉี่ถือว่าเป็นของเสียในร่างกายที่มีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ยิ่งกินก็ยิ่งหิวน้ำทั้งๆที่หาน้ำเพิ่มเติมไม่ได้ ก็จะกลายวัฎจักรแห่งความน่าสงสารไปโดยปริยาย เพราะฉี่ที่ไตขับออกมาก็คือโซเดียมที่เราพยายามขับออก ถ้ากินก็เหมือนเติมมันกลับเข้าไปอีกครั้ง

เลยเป็นที่มาว่า ในแพชูชีพที่อยู่ในเรือช่วยชีวิต จะมีน้ำเปล่าแพคอยู่ในซองด้วยครับ มีให้คนละ 1.5 ลิตร ใช้สำหรับ 3 วัน ไว้ให้กินวันละ 500 ซีซี เพื่อหวังว่าภายใน 72 ชั่วโมงหลังเรือล่ม คนที่มาช่วยชีวิตเราจากฝั่งน่าจะมาถึงที่เกิดเหตุและเราควรจะได้รับการช่วยเหลือแล้วนั่นเอง แต่ถ้ารอดจนโดนคลื่นพลัดไปติดเกาะได้ก็คงต้องทำแบบลุง Tom Hanks ใน Castaway ครับ คือ ไปหาแหล่งน้ำจืดธรรมชาติบนเกาะ หรือน้ำในต้นไม้นั่นเองครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *