โรคไข้เหลือง (Yellow fever)

ไข้เหลืองคืออะไร ความรู้เกี่ยวกับไข้เหลือง

โรคไข้เหลือง (yellow fever) เป็นโรคติดเชื้อไวรัสเฉียบพลัน เป็นโรคประจำถิ่นในภูมิภาคทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ ถือว่าเป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อโบราณเก่าแก่ที่มนุษย์รู้จักดีมาหลายร้อยปีแล้ว อัตราการเสียชีวิตสำหรับผู้ที่ติดเชื้อโรคไข้เหลืองและมีอาการถือว่าสูง แต่เป็นโรคที่มีการป้องกันด้วยวัคซีนที่ได้ผลเป็นอย่างดี

เนื่องด้วยจุดหมายปลายทางในพื้นที่แหล่งรังโรคเป็นสถานที่ๆมีความน่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินเข้าไป ไม่ว่าจะเป็น การไปซาฟารีในทวีปแอฟริกา หรือการไปมาชูพิคชู สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในอเมริกาใต้ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคไข้เหลืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในบทความนี้ผมจึงจะขออธิบายสั้นๆว่าไข้เหลืองเกี่ยวข้องกับนักเดินทางอย่างไร


อาการของผู้ที่ติดโรคไข้เหลือง

พาหะนำโรค : ยุงลาย (Aedes) ซึ่งเป็นคนละสายพันธุ์กับที่มีในเมืองไทย

หลังจากเราถูกยุงที่มีเชื้อกัดแล้ว ไวรัสจะเดินเข้าสู่กระแสเลือดภายในร่างกาย และเริ่มแบ่งตัวฟักตัวอีกประมาณ 3-6 วัน (Incubation period) ก่อนที่เราจะเริ่มมีอาการแสดงของโรค โดยอาการของโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้

ช่วงแรกของอาการไข้เหลือง

ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปวดบริเวณหลัง ปวดศีรษะรุนแรง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน อาการต่างๆ ในช่วงแรกนี้จะกินเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงในช่วงระยะแรกเท่านั้นและอาการจะหายไปได้เอง มีเพียงส่วนน้อยที่อาการจะรุ่นแรงเข้าสู่ระยะที่สอง

ระยะที่สอง (Toxic phase)

เรียกว่า ระยะเป็นพิษ (Toxic phase) ผู้ป่วยกลับมามีไข้สูงขึ้นมาอีกครั้งภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่ผ่านพ้นอาการช่วงแรกมา หลังจากนั้นจะมี อาการตาเหลืองตัวเหลือง (ซึ่งเป็นสาเหตุของชื่อโรค) ผู้ป่วยจะปวดท้อง และอาเจียนอย่างมาก ในระยะต่อมา ผู้ป่วยจะมีเลือดออกทางปาก ทางจมูก อาจมีอาเจียนหรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเนื่องจากตับวาย และไตวาย ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระยะที่สองจำนวนประมาณ 50% จะเสียชีวิต ภายใน 10-14 วัน


ความเสี่ยงของโรคไข้เหลืองในนักเดินทาง (ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน)

เนื่องด้วยโรคไข้เหลืองเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และวัคซีนถือว่ามีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงที่ต่ำ การฉีดวัคซีนก่อนเดินทางเข้าพื้นที่เสี่ยงถือเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยที่แสดงถึงความเสี่ยงของการเป็นโรคไข้เหลืองในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเอาไว้ให้เปรียบเทียบ ดังนี้

นักท่องเที่ยวที่เดินทางในแอฟริกาตะวันตก (West Africa) 2 สัปดาห์

  • มีความเสี่ยงที่จะติดไข้เหลือง 50 ต่อ 100,000
  • มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากไข้เหลือง 10 ต่อ 100,000

นักท่องเที่ยวที่เดินทางในอเมริกาใต้ (South America) 2 สัปดาห์

  • มีความเสี่ยงที่จะติดไข้เหลือง 5 ต่อ 100,000
  • มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากไข้เหลือง 1 ต่อ 100,000

ประเทศไหนถือว่าเป็นเขตติดต่อ “ไข้เหลือง”

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศรายชื่อประเทศหรือดินแดนที่เป็นเขตระบาดของโรคไข้เหลือง ทั้งหมด 42 ประเทศ ดังนี้

***ภาพในแผนที่ด้านล่างเป็นข้อมูลของทางกรมควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกา (US CDC) ซึ่งข้อมูลบางส่วนอาจจะไม่ตรงกับของทางกระทรวงสาธารณสุขของประเศไทยครับ***

ทวีปอเมริกาใต้ (South America) 13 ประเทศ

  1. บราซิล (Brazil)
  2. โบลิเวีย (Bolivia)
  3. เปรู (Peru)
  4. เอกวาดอร์ (Ecuador)
  5. กายอานา (Guyana)
  6. เฟรนซ์เกียนา (French-Guiana)
  7. ปานามา (Panama)
  8. โคลอมเบีย (Colombia)
  9. เวเนซูเอลา(Venezuela)
  10. ซูรินาเม (Suriname)
  11. ตรินิแดดแอนด์โตเบโก (Trinidad and Tobago)
  12. อาร์เจนตินา (Argentina)
  13. ปารากวัย (Paraguay)

ทวีปแอฟริกา (Africa) 29 ประเทศ

  1. แองโกล่า (Angola)
  2. เบนิน (Benin)
  3. บูร์กินาฟาโซ (Burkina-Faso)
  4. บุรุนดิ (Burundi)
  5. แคเมอรูน (Cameroon)
  6. สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic)
  7. สาธารณรัฐคองโก (Republic of Congo)
  8. โกตดิวัวร์ (Cote D’Ivoire)
  9. เอธิโอเปีย (Ethiopia)
  10. แกมเบีย (Gambia)
  11. กาบอง (Gabon)
  12. กานา (Ghana)
  13. กินี (Guinea)
  14. กินีบิสเซา (Guinea-Bissau)
  15. อิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea)
  16. เคนยา (Kenya)
  17. ไลบีเรีย (Liberia)
  18. มาลี (Mali)
  19. มอริเตเนีย (Mauritania)
  20. เซเนกัล (Senegal)
  21. เซียร์ราลิโอน (Sierra Leone)
  22. โซมาเลีย (Somalia)
  23. ซูดาน (Sudan)
  24. ชาด (Chad)
  25. โตโก (Togo)
  26. อูกันดา (Uganda)
  27. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of Congo)
  28. ไนเจอร์ (Niger)
  29. ไนจีเรีย (Nigeria)

วิธีการป้องกันโรคไข้เหลือง

สามารถอ่านรายละเอียดต่อได้ที่บทความ “วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง (Yellow fever vaccination)“

2 thoughts on “โรคไข้เหลือง (Yellow fever)

  1. Pingback: สมุดรับรองการฉีดวัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever certification)

  2. Pingback: การเตรียมไปเที่ยวแอฟริกา - คลินิกนักเดินทาง โรงพยาบาลป่าตอง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *