ยุคหลังโควิด COVID-19 เตรียมตัวไปเที่ยวอย่างไร

การเตรียมตัวไปเที่ยวยังไงไม่ให้ป่วย การเตรียมตัวไปเที่ยวควรรู้อะไรบ้าง อย่างน้อย ในเรื่องของการเตรียมตัวเดินทาง เมื่อเรา แพ็คกระเป๋าเสร็จแล้ว คนที่ป่วยส่วนใหญ่เพราะว่าไม่ได้ไปพบหมอ ก่อนไปเที่ยว

วันนี้ผมจะมาขยายว่าการไปเที่ยวควรรู้อะไรบ้าง ในเรื่องของการเตรียมตัวเดินทางเราควรไปพบหมออย่างน้อย 1 ครั้ง จากนี้เป็นเหตุการณ์ในห้องตรวจ คำถามที่หมออยากรู้มีอะไรบ้าง โดยมีทั้งหมด 10 หัวข้อ

1.) ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคล

  • เช่น เพศ อายุ โรคประจำตัวเป็นประเด็นที่สำคัญมาก เพราะเรามักไม่ค่อยได้ตรวจร่างกายประจำปี อาจจะมีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงหรืออันตรายที่ซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้นเราควรตรวจร่างกายประจำปีเป็นประจำครับ จะได้พร้อมเดินทางได้ทุกเมื่อ

2.) ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร

  • บางคนจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่อาจเสียประโยชน์ที่สำคัญไป
  • ถ้าจำได้จะมีประโยชน์มากโดยเฉพาะเรื่องของวัคซีน คนไทยทุกคนได้รับวัคซีนตอนเด็กมาเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่อาจจะทำสมุดวัคซีนหาย วัคซีนจริงๆแล้วสำคัญมาก เช่น ตอนนี้ โรค COVID-19 ทุกคนพูดถึงวัคซีน ซึ่งถ้าเรามีประวัติเดิมมาก่อนจะช่วยหมอพิจารณาได้ค่อนข้างมาก

3.) ข้อมูลเฉพาะผู้หญิง

  • โดยเฉพาะข้อมูลการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะประวัติประจำเดือนสำคัญมาก บางคนคิดว่าหมอจะมาถามทำไม แต่บางทีเราไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ บางคนประจำเดือนมาไม่ตรงเวลา ที่ต้องถามเพราะวัคซีนบางอย่างห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์

4.) โรคประจำตัว

  • โรคประจำตัวบางอย่างอาจะมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น คนที่เป็นโรคลมชักหรือโรคเครียดอย่างเช่น ไปเที่ยวแอฟริกาบางครั้งอาจต้องรับประทานยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียและยาบางอย่างก็มีข้อห้ามในการใช้ผู้ป่วย ลมชัก
  • ประวัติเรื่องการผ่าตัด เพราะบางทีเรามีประวัติการผ่าตัดที่เกี่ยวกับคอซึ่งอาจส่งผลกระทบมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ของร่างกายไหม มันมีผลต่อการให้วัคซีนเช่นกัน พูดถึงประวัติการได้รับวัคซีนตอนเด็กนะครับ เพราะฉะนั้นสมุดวัคซีนสำคัญมาก หรือถ้าไม่มีก็โทรไปถาม รพ.ที่เราเกิด ถ้าเป็นเอกชนส่วนใหญ่จะเก็บข้อมูลไว้ ในคอมพิวเตอร์ และสามารถปริ้นแล้วก็ขอมาได้
  • คนต่างชาติเวลาพบแพทย์เขาจะเขาจะพิมพ์ใส่กระดาษ A4 มาเลย เพราะว่าในระบบของต่างประเทศเขาก็จะบันทึกในระบบตลอด เวลาจะเดินทางหมอก็แค่ส่งอีเมล์ไปให้คนไข้ มีประวัติวัคซีนติดตัวไปด้วยครับ

5.) จุดหมายปลายทาง

  • ในโลกของเรามีประมาณ 200 กว่าประเทศ แต่ละประเทศก็จะมี ความแตกต่างในเรื่องของภูมิศาสตร์ เรื่องของภูมิประเทศและภูอากาศ ความแตกต่างของโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้น
  • บางประเทศขอหลักฐานการฉีดวัคซีน เช่น ถ้าจะไปเที่ยวประเทศในกลุ่มแอฟริกา ต้องมีการฉีดวัคซีนไข้เหลือง (Yellow Fever) ถ้าหากไม่ฉีดวัคซีนชนิดนี้ก็จะเข้าประเทศไม่ได้
  • ชาวมุสลิมไปเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ต้องบังคับให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal) ก่อนเดินทาง
  • ดังนั้นเราควรต้องรู้ประเทศว่าจะไปที่ไหนแล้วจึงวางแผน เพราะบางประเทศมีกฎหมายบังคับบางประเทศไม่ได้บังคับว่าต้องฉีด วัคซีนบางวัคซีนมีข้อบ่งชี้ หรือข้อห้ามใช้ บางคนอายุเกิน ห้ามฉีดวัคซีนตัวใดตัวหนึ่งทำให้ไปเที่ยวประเทศเหล่านี้ไม่ได้

6.) จำนวนวันในการเดินทาง

  • คนที่ไปเที่ยว 1 วัน 5 วัน กับ 10 วัน 3 คนนี้ สมมุติว่าไปจุดหมายปลายทางเดียวกัน จะมีการเตรียมตัวในการเดินทางที่แตกต่างกัน ดังนี้เช่น
  • คนแรกไปประเทศเอธิโอเปีย (Ethiopia) เหมือนไปแบบนักธุรกิจไปถึงเซ็นสัญญากลับเลยวันเดียว คนที่สองไปเที่ยว 5 วัน คนสุดท้ายว่างงานจึงไปเที่ยว 10 วัน เรากำลังพูดถึงถ้าคนไปแล้วจะติดเชื้อโรค มันก็ต้องมีระยะการฟักตัวของโรค เพราะฉะนั้นคนที่ไปแค่ 1 วัน โอกาสที่จะติดเชื้อก็อาจจะน้อยกว่า หรือบางที ไปวันแรกก็อาจจะติดเชื้อเลย แต่ก็จะ กลับมาป่วยที่ประเทศตัวเอง เพราะงั้นการคิดของหมอก็จะแตกต่างกัน
  • ถ้าเกิดเราไปเที่ยวเที่ยวยาวๆ 10 วัน 20 วัน หรือ 30 วัน มันแปลว่าก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อมากยิ่งขึ้น เวลาเจ็บป่วยก็จะเจ็บป่วยที่ประเทศปลายทางด้วย เราอาจจะต้องคิดถึงในเรื่องการเตรียมโรงพยาบาลที่ประเทศจุดหมายปลายทางว่าได้มาตรฐานเพียงพอไหม ประกันเดินทางที่เราใช้สามารถเชื่อมต่อกับสถานที่ๆเราเดินทางอยู่ได้หรือไม่

ช่วงเวลาในการเดินทางประจำปี

  • ถ้าเป็นฤดูฝน ยุงก็จะเยอะ ฝรั่งคนไหนมาเที่ยวเมืองไทยฤดูฝน โอกาสจะเป็นไข้เลือดออกก็จะมากกว่าคนปกติหรือคนที่มาตอนฤดูหนาว
  • เช่นเดียวกัน ถ้าคนไทยไปเที่ยวประเทศใดประเทศหนึ่งในช่วงฤดูฝน โอกาสที่เราจะไปเจอพวกแมลง อย่างเช่น จะไปแอฟริกาเราก็ไม่ควรไปในช่วงฤดูฝน เพราะหญ้ามันจะโตสูง แล้วตามหญ้าก็จะมีพวกเห็บ (Tick) ซึ่งเราก็มีโอกาสโดนกัดได้
  • แต่ถ้าเราไปในช่วงฤดูแล้ง หญ้ามันจะค่อนข้างเตี้ยเพราะสัตว์มันก็จะเล็มกินหญ้าหมดไปค่อนข้าง โอกาสที่จะโดนเห็บกัดก็จะลดลง
  • แม้กระทั่งจุดหมายปลายทางเดียวกัน แต่ถ้าไปผิดฤดูเช่นไปตอนหน้าหนาวมากๆ เช่น แคว้นลาดักส์ของอินเดีย ก็อาจจะไปเจอพวกหิมะกัดมือได้ครับ

7.) เหตุผลในการเดินทาง

  • เหตุผลในเรื่องของการเดินทาง ว่าเราจะไปทำอะไร ไปในเชิงธุรกิจ หรือเที่ยวสนุกกับครอบครัว หรือการทำงาน แบบอาสาสมัคร หรือบางคนไปแสวงบุญ
  • อย่างแรกคนที่ไปแบบ Business Traveler นั่งชั้น Business นอนโรงแรม 5 ดาว มีรถมารับตลอดทาง กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้ติดโรคจากการไปเดินตลาดหรือการไปกินอาหารที่ไม่สะอาด อาจจะเป็นความเสี่ยงในด้านอื่นแทน
  • แต่ถ้าเป็นแบบแบคแพค กินทุกอย่าง สตรีทฟู้ด กินทุกอย่างจากคนท้องถิ่น คนกลุ่มนี้ก็จะมีโอกาสเจออาหารที่ไม่สะอาดหรืออาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะในบางครั้ง แต่มันคือรสชาติของชีวิต ถ้าเกิดเขาเตรียมตัวก่อนที่จะเดินทาง มาเจอหมอ หมอก็จะมีวิธีป้องกัน ให้เขาได้กินได้สบายใจขึ้น
  • ต่อมาเป็นกลุ่มของคนที่เป็นอาสาสมัครแพทย์หรือพยาบาลอาสาในถิ่นทุรกันดาร กลุ่มนี้ไม่ต่างจากการย้ายบ้าน ไปอยู่ในที่ที่สิ่งอำนวยความสะดวกมันอาจจะไม่เพียงพอ โอกาสที่จะติดโรคก็เริ่มจะเท่ากับคนท้องถิ่น แต่ที่แตกต่างกันคือ โรคติดเชื้อบางอย่างคนท้องถิ่นเขามีภูมิต้านทานแล้ว แต่เราเป็นคนใหม่ยังไม่มีภูมิต้านทานนั้นๆ เพราะฉะนั้นเราจะไปเทียบกับเขาไม่ได้ ตัวอย่างเช่น ใกล้ตัวเราที่สุดอย่างไข้เลือดออก คนไทยบางส่วนมีภูมิต้านทานแล้ว แต่ถ้าเป็นฝรั่งก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่า เพราะเรากำลังพูดถึงเรื่องของภูมิต้านทานอยู่
  • กลุ่มที่เป็นผู้แสวงบุญ เช่น กลุ่มของคนมุสลิมที่ไปประกอบพิธีที่นครเมกกะ อันนี้จะค่อนข้างชัดเจน เพราะรัฐบาลไทยจะมีกฎที่ชัดเจนว่า คนที่จะไปต้องมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นก่อน จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง ถ้าเกิดเราไปด้วยอุมเราพห์ด้วยตัวเอง ไม่ได้ผ่านระบบของกระทรวงสาธารณสุข เราได้เตรียมตัวให้พร้อมหรือยังสำหรับเรื่องนี้

8.) ลักษณะของการเดินทาง

  • เราจะพิจารณาจากลักษณะการเดินทาง เช่น เที่ยวด้วยตัวเอง หรือ ไปแบบทัวร์
  • สำหรับการไปแบบทัวร์จะค่อนข้างบอกได้ชัดเจน เพราะว่าทุกอย่างได้ถูกจัดไว้แล้ว อย่างเช่นจากจุด A ไป B จากสนามบินไปโรงแรม ก็มีรถมารอรับ โอกาสจะไปเจอกับคนท้องถิ่นก็จะลดลง การสัมผัสโรคที่ใกล้ชิดก็โอกาสจะลดลงตามไปด้วย
  • แต่ถ้าไปเที่ยวเองส่วนใหญ่ไปถึงสนามบินก็จะหาวิธีการที่ประหยัดที่สุด เราก็อาจจะใช้พาหนะเดินทางแบบท้องถิ่น ซึ่งมีโอกาสได้สัมผัสกับคนท้องถิ่นในระยะประชิด ส่วนใหญ่โรคติดเชื้อจะติดต่อกันได้วิธีการที่ไม่แตกต่างกันมาก เช่น การสัมผัส การรับสารคัดหลั่ง การไอจามที่มีละอองฝอย ผลก็คือโอกาสการสัมผัสโรคอาจจะมากขึ้น แต่ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ไปเที่ยว หรือไม่ให้จับมือกับคนท้องถิ่น เพราะกำลังหมายถึงความเสี่ยง อะไรที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ก็ควรทำ อะไรที่มันทำไม่ได้ก็อาจจะไม่ต้องทำ แต่สิ่งที่เราทำได้คือทำให้ความเสี่ยงมันต่ำที่สุด เช่น ถ้าต้องจับมือจริงๆ หลังจับมือเสร็จก็ต้องล้างมือด้วยวิธีการต่างๆ ครับ
  • การกินอาหาร ไม่มีใครห้ามว่าไปถึงอินเดียแล้วห้ามกินอาหารท้องถิ่น ไม่มีใครห้ามได้ แต่ประเด็นคือเราควรเตรียมตัวที่จะไปกินอาหารท้องถิ่นอย่างพร้อมที่สุดแล้วหรือยัง วัคซีนตัวไหนที่จะช่วยป้องกันโรคบางอย่างที่ติดต่อทางอาหารเช่น ตับอักเสบเอ, ไทฟอยด์, อหิวาตกโรค หรือ บางอย่างอาจจะป้องกันด้วยวัคซีนไม่ได้ เช่น พยาธิ, แบคทีเรีย ถ้าทราบทุกอย่างแล้วตัดสินใจที่จะไม่รับวัคซีนแล้วหาวิธีการอื่นๆป้องกันแทน แบบนี้ดีกว่าการไม่ทราบอะไรเลยและไม่รู้วิธีการป้องกันที่ถูกต้องครับ
  • ประเด็นเรื่อง การวางแผนการเดินทาง การไปเที่ยวในเมืองกับนอกเมือง มันแตกต่างกันมาก โดย ธรรมชาติคนที่ไปเที่ยวในเมือง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการนอนในโรงแรม ร้านอาหารก็จะเป็นแบบภัตตาคาร หรือค่อนข้างได้มาตรฐานมากกว่า แต่ถ้าเกิดไปเที่ยวนอกเมือง ก็มักจะเป็นโรงแรมที่ระดับมาตรฐานอาจจะแย่ลง ร้าน อาหารอาจจะเป็นแบบชาวบ้านมากยิ่งขึ้น ก็จะมีในเรื่องของความสะอาด และความเสี่ยงในเรื่องของการติดเชื้อ คนที่ไปเที่ยวนอกเมืองอาจจะมีความเสี่ยงในเรื่องของการติดเชื้อมากกว่า แต่ก็ไม่เสมอไป

9.) มาตรฐานความสะอาดของประเทศปลายทาง

  • อันนี้เราดูได้ค่อนข้างง่าย เช่นถ้าเราไปเที่ยวยุโรป หรือกลุ่มประเทศอเมริกา คุณภาพของความสะอาดก็จะค่อนข้างดี โอกาสที่จะท้องเสียก็จะยาก แต่ถ้าเป็นประเทศอินเดีย ก็ต้องระวัง มีงานวิจัยหลายตัวที่บอกว่าคนไปอินเดียส่วนใหญ่จะท้องเสียเยอะมาก
  • มาตรฐานของที่พักอาศัย ยกตัวอย่างเช่น โรงแรม 5 ดาว กับ 1 ดาว เราไม่ได้บอกว่าโรงแรม 1 ดาวไม่สะอาด มันเป็นเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวก แต่ถ้าโรงแรม 1 ดาว เป็นที่พักที่เจ้าของแทบไม่เคยเอาที่นอนที่ไปซักเลย แล้วเกิดมันมี bed bug อยู่บน เตียง แล้วเราไปนอนต่อ แล้วเราจะมีโอกาสโดนกัดหรือไม่
  • เรื่องของอาหารที่อาจจะอยู่ในโรงแรมเช่น พวกบุฟเฟ่ต์ มันสะอาดเพียงพอไหม มีหลายงานวิจัยที่บอกเช่นเดียวกันเพราะบางทีอาหารในโรงแรม 5 ดาวบางทีอาจจะไม่สะอาดเพียงพอก็ได้เช่นกัน เพราะพวกผักสดที่ไม่ได้ถูกทำให้สุกแล้วเราไปกินมันอาจจะมีไข่พยาธิอยู่ จริงๆแล้วการไปเที่ยว ต่างประเทศ ไม่ควรกินอาหารดิบ สตรีทฟู้ด หน้าตาดูไม่สะอาด สำหรับอาหารแล้วถ้าถูกทำให้สุกแล้วกินทันทีพวกนี้อาจจะปลอดภัยกว่าผักสดในโรงแรม 5 ดาว

10.) กิจกรรมพิเศษที่อยู่ในการเดินทาง

บางคนอาจจะมีกิจกรรมอื่นๆที่อยู่ในทริปหลัก อาจจะมีประเด็นที่ต้องนำมาคิดต่อ เช่น

  • เราจะไปเที่ยวมัลดีฟส์ ต้องการไปดำน้ำด้วย ซึ่งการดำน้ำก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกับการอยู่บนบก เช่น ถ้าดำน้ำมาห้ามขึ้นเครื่องบินภายใน 24-48ชม. เพื่อป้องกันการเกิดโรคน้ำหนีบและการไปดำน้ำเราต้องรู้ว่าสถานที่ที่มันมี ห้องปรับบรรยากาศ (Hyperbaric Chamber) ในการรักษาโรค มันอยู่ตรงไหน เช่นฝรั่งจะมาดำน้ำที่ภูเก็ต เขาก็ต้องรู้ว่า มันมีเครื่อง Chamber นี้อยู่ที่ไหนซึ่งก็สามารใช้ในการรักษาได้ แต่ถ้าเราไปประเทศอื่นแล้วมันไม่มีเครื่อง Chamber ในประเทศนั้นๆ เราสามารถรอดจากการเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ได้อย่างไร
  • การเดินเขาที่ เนปาล ก็จะมีในเรื่องของความกดอากาศของออกซิเจนที่มันแตกต่างกันออกไปทำให้เกิดอาการแพ้ความสูง ในประเทศไทย ดอยอินทนนท์สูงสุด ประมาณ 2,500 เมตร แต่เนปาล 2,500 เมตร เป็นแค่เนินเขา เราไม่มีการแพ้ความสูงที่เมืองไทย แต่ถ้าเกิดไปเที่ยวเนปาล ส่วนใหญ่มักจะมีอาการนี้ เราควรจะพบแพทย์ก่อน เราเป็นโรค ความดัน เบาหวาน ภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดหรือไม่
  • เที่ยวถ้ำ ระบบนิเวศวิทยาของในถ้ำกับข้างนอกมัน ต่างกัน ความชื้นก็ไม่เหมือนกัน สัตวที่อาศัยอยู่ในถ้ำก็ไม่เหมือนกัน มันก็จะมีโรคบางอย่างที่มีเฉพาะแค่ในถ้ำ เรารู้เราทราบความเสี่ยงนี้หรือยัง

การเดินทางในทุกสถานที่มันมีความเสี่ยงอยู่เสมอ เราพิจารณาความเสี่ยง และสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หมอที่ดูแลด้านนี้โดยตรง เพื่อจุดประสงค์หลักก็คือ ไปเที่ยวเพื่อไปเที่ยว ไม่ได้ไปเที่ยวเพื่อไปป่วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *