ก่อนจะไปเดินเขา เรื่องนี้ไม่รู้ไม่ได้ กับ อาการแพ้ความสูง (Acute Mountain Sickness)

ไปเดินเขาอย่างไรไม่ให้ป่วย

ตลอดหลายปีมานี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากิจกรรมการไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่สูงๆได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยว  ไม่ว่าจะเป็นการไปเดินเขาเพื่อพิชิตยอดต่างๆ ไปเมืองที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมากๆ เช่น ทิเบต เปรู หรือ จีนบางเมือง

แต่การที่นำเอาร่างกายของเราไปยังสถานที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลที่มากกว่าปกติตามสถานที่อยู่อาศัยย่อมทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพื่อหาจุดสมดุลของร่างกาย อาการต่างๆที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่ร่างกายปรับตัวเข้าหาจุดสมดุลนี้ไม่ทัน หรือปรับไม่ได้นั่นเอง

แค่ไหนจึงถือว่าสูง???

  • ความสูงในที่นี้วัดจากความสูงจากระดับน้ำทะเล เช่น จุดสูงสุดของประเทศไทย คือ  ยอดดอยอินทนนท์ ที่สูงประมาณ 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล
  • กล่าวคือ หากเกิน 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูง!!!!  พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เราไปเที่ยวกันอยู่ในช่วง 3,000 – 5,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

แล้วทำไมนั่งอยู่บนเครื่องบินที่สูงจากพื้นตั้งเยอะทำไมไม่ป่วย??? สาเหตุมาจากบนเครื่องบินจะถูกปรับความดันอากาศให้อยู่ในระดับที่ร่างกายปกติหรือประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ร่างกายจึงไม่มีอาการผิดปกติ


ปัจจัยเสี่ยงที่ควรรู้ก่อนการเดินทางไปที่สูง

  1. คนบางกลุ่มสามารถอาศัยอยู่บนพื้นที่ๆมีความสูงโดยไม่มีอาการป่วย เช่น คนธิเบตที่มีการตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัยบนพื้นที่มีความสูงกว่า 3,000-4,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล  เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจมีการปรับตัวมาอย่างยาวนานหลายปี
  2. ความแข็งแรงของร่างกายไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกว่าเราจะป่วยหรือไม่ป่วย เปรียบเสมือนคนที่วิ่งเร็วกว่าไปถึงเส้นชัยก่อนแต่ไม่ได้การันตีว่าเค้าจะถึงเส้นชัยอย่างปลอดภัย  โดยพบว่าคนที่เคยป่วยเมื่อไปที่สูงมาแล้วมีโอกาสป่วยได้อีกเมื่อไปที่ที่มีความสูง
  3. ปลี่ยนความสูงอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาสั้นๆหรือเปลี่ยนแปลงมากเกินไปต่อวัน ปกติไม่ควรเปลี่ยนแปลงความสูงเกิน 500 เมตรต่อวัน
  4. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายต้องการออกซิเจนมากกว่าปกติ อาการจากฤิทธิ์แอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดความสับสนได้
  5. ประวัติการป่วยหรือโรคประจำตัว

การเตรียมตัวการเดินทางไปยังที่สูง

ทุกๆการเดินทางเมื่อไปในพื้นที่ที่มีความสูงมากกว่า 2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเลจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนการเดินทาง ปรับแผนการเดินทาง และคำนึงถึงถึงโรคประจำตัว

ทั้งนี้แนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทางด้านการเดินทาง(Travel Medicine) เพื่อสามารถที่จะให้คำแนะนำวิธีการป้องกันและปฏิบัติตนสำหรับแต่ละคน


โรคที่เกี่ยวกับการเดินทางไปยังที่สูง

อาการแพ้ความสูง Acute Mountain Sickness (AMS)

อาการแพ้ความสูงมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน ก่อให้เกิดความผิดปกติและอาการตางๆ อาการมักเกิดหลังเดินทางประมาณ 6 – 12 ชม. เมื่อไปถึง ช้าหรือเร็วกว่านั้นขึ้นอยู่กับตัวบุคคล

ทั้งนี้ปกติแล้วเราสามารถสังเกตตัวเองจากคืนวันแรกที่ไปถึง

อาการ : คล้ายคนเมาค้าง ปวดหัว  คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น ความรุนแรงตั้งแต่น้อยไม่จนถึงมากก

วิธีการป้องกันอาการแพ้ความสูง

  • ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เปลี่ยนแปลงความสูงเร็วเกินไป  หากมีอาการแนะนำว่าให้อยู่ที่ความสูงเดิมก่อน หากไม่ดีขึ้นต้องลดระดับความสูงโดยการเดินลง หากอาการไม่ดีขึ้นให้เดินลง
  • ค่อยๆเดินไม่ต้องรีบ (Ascend Slowly)
  • ขึ้นสูงแล้วนอนต่ำ (Climb high and Sleep low)  เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวไปสัมผัสกับช่วงที่ออกซิเจนลดลงแล้วปรับตัว การเปลี่ยนแปลงความสูงไม่ควรเกิน 500 เมตรต่อวัน ควรมีวันพักหรืออยู่ที่ระดับความสูงเดิม
  • อย่าออกกำลังกายหรือประกอบกิจกรรมที่ให้แรงเยอะ ให้อยู่เฉยๆค่อยๆหายใจช้าๆ เพราะว่าการใช้แรงเยอะจะทำให้เกิดการใช้ออกซิเจนมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้มีแนวโน้มป่วยง่ายขึ้น

การปรับตัวทางร่างกาย (Acclimatization) 

  • เมื่อเรายิ่งขึ้นที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ ความกดอากาศของออกซิเจนในอากาศจะลดลงเรื่อย และมีผลให้ออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปลดลง (Hypoxia) สิ่งที่ร่างกายจะตอบสนองคือ หายใจเร็วขึ้น (Hyperventilation) เพื่อชดเชยออกซิเจนที่ร่างกายสูญเสียไป
  • ผลของการหายใจที่เร็วขึ้นจะทำให้เลือดของเราเป็นด่างมากขึ้น (Alkalosis) ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งๆที่เราหายใจจำนวนครั้งมากเกินไปแล้ว เราก็จะหายใจเร็วกว่านี้ไม่ได้อีก ร่างกายจึงจำเป็นต้องเริ่มขับด่างออกจากร่างกายเนื่องจากมีมากเกินไป ร่างกายก็จะขับออกผ่านทางการกรองของไตหรือออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งระยะเวลาในการขับด่างออกมาทางปัสสาวะของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมคนเราจึงปรับตัวได้ช้าเร็วต่างกัน
  • คนไหนขับด่างได้เร็วก็จะปรับตัวได้เร็วกว่าคนที่ขับด่างได้ช้ากว่าทางปัสสาวะ

การป้องกันด้วยการทานยา (Consider taking a Preventive medicine)

ยาหลักชื่อว่า Diamox (Acetazolamide) จัดเป็นยาในกลุ่ม Sulfa  คนแพ้ยากลุ่มนี้ต้องได้รับคำแนะนำของแพทย์ ออกฤทธิ์ทำให้เลือดเป็นกรด เพื่อจะได้ขับด่างออกได้เร็วมากยิ่งขึ้น(ปัสสาวะบ่อย) ควรกินก่อนการเดินทาง 1-2 วันก่อนเดินทาง  ส่วนขนาดยาที่บริโภคคือ 125 มิลลิกรัม ซ้ำทุก 12 ชั่วโมง กินก่อนขึ้นที่สูง 1 วันกินทุกวันจนไปถึงระดับความสูงสูงสุดของการเดินทางนั้นๆผ่านไป 24 ชั่วโมงให้หยุดทาน

ยาตัวอื่นคือ Dexamethasone  อยู่ในกลุ่มสเตียรอยด์(Steroid) เป็นยาที่มีผลข้างเคียงมากกว่าโดยการกดอาการไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งยาจำพวกนี้จำเป็นต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์


การรักษาอาการแพ้ความสูง (AMS Treatment)

  1. อยู่เฉยๆ รอให้หายไปเอง 1-2 วัน
  2. ไม่ดีขึ้นเดินลง
  3. ใช้ยาตามอาการ เช่น ปวดหัวอาจใช้กลุ่มของบรูเฟน หรือพาราเซตามอล รวมถึง Diamox

****ขนาดของยาที่รับประทานแนะนำให้ปรึกษาแพทย์เนื่องจากข้อมูลหรือข้อจำกัดทางสุขภาพของแต่ละคนแตกต่างกัน


อาการแพ้ความสูงแบบรุนแรง คือ สมองบวม และ ปอดบวม

มองบวมจากการขึ้นพื้นที่สูง(High – Altitude Cerebral Edema: HACE) 

เป็นอาการที่ต่อเนื่องจากการการแพ้ความสูงลักษณะอาการเริ่มจากการเดินเซ  ปวดหัวมาก ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนอง เซื่องซึม ตอบสนองช้า การรักษาจำเป็นต้องลงจากความสูงนั้นทันที ให้ออกซิเจนและมีการใช้ยาบางประเภทร่วมด้วย

อาการปอดบวมน้ำจากการขึ้นที่สูง (High Altitude Pulmonary Edema: HAPE)

เมื่อออกซิเจนลดทำให้เส้นเลือดในปอดหดตัว ส่งผลให้ความดันในปอดเพิ่มขึ้นและปอดบวมขึ้นตามลำดับ ลักษณะอาการเเริ่มต้นจากการแพ้ความสูง ต่อมาจะมีอาการหายใจเหนื่อยยย ไอมีเสมหะสีชมพู (Pink  Frothy Sputum) ซึ่งเป็นสีของเลือดที่มาจากปอด

การรักษาจำเป็นต้องลงจากพื้นที่นั่นอย่างรวดเร็ว ยารักษามี 2 กลุ่มหลักได้แก่  Nifedipine และ  Tadalafil ทำให้เส้นเลือดปอดขยาย และให้ออกซิเจนอย่างรวดเร็ว

คนเราไม่ตายด้วยโรคแพ้ความสูงหรือ AMS แต่จะป่วยหรือเสียชีวิตจากอาการที่ได้จากภาวะสมองบวมหรืออาการปอดบวม

Tip!!! ทุกครั้งที่มีการเดินทางจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณา ประกันการเดินทาง ครอบคลุมการรักษากรณีพวกนี้หรือไม่? เฮลิคอปเตอร์ในการขนย้ายทั้งตัวผู้ป่วย ญาติหรือแม้กระทั่งศพ เป็นต้น มีระยะเวลาเดินทางที่เหมาะสม ไม่เอาร่างกายตนเองไปเทียบกับคนอื่นเนื่องจาก ร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน ปรับตัวไม่เหมือนกัน

ไปเที่ยวเพื่อไปหาความสุขไม่ได้ไปเที่ยวเพื่อป่วย

ก่อนจะไปเดินเขา เรื่องนี้ไม่รู้ไม่ได้ กับ อาการแพ้ความสูง (Acute Mountain Sickness)

เรื่องราวจากหนังสือหลายร้อยหลายพันหน้า ผมย่อมาให้ฟังแล้วภายใน 20 กว่านาที เรื่องราวน่ารู้ที่คนชอบเดินเขาควรต้องรู้ เรื่อง อาการแพ้ความสูง (Acute Mountain Sickness) ถ้าไม่รู้เรื่องพวกนี้ก่อนเดินเขา ขอให้คิดใหม่อีกครั้งนะครับ สารบัญเรื่อง

  • 0:59​ สูงแค่ไหน ถึงเรียกว่าสูง?
  • 3:03​ มนุษย์เรารู้จักโรคแพ้ความสูงเมื่อตอนไหน

ปัจจัยเสี่ยง

  • 4:38​ คนที่ไม่น่าจะป่วยแน่ๆ
  • 5:12​ เคยมีอาการแพ้ความสูงมาก่อน
  • 5:22​ คนที่มีการเปลี่ยนความสูงอย่างรวดเร็ว
  • 6:09​ การดื่มแอลกฮอล์ โรคประจำตัวที่ควรรู้ก่อนไปพื้นที่สูง
  • 7:35​ ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
  • 8:04​ หอบหืด (Asthma)
  • 8:20​ เบาหวาน
  • 8:40​ โรคหัวใจ
  • 8:54​ การตั้งครรภ์

อาการแพ้ความสูง (Acute Mountain Sickness / AMS)

  • 9:18​ อาการแพ้ความสูง
  • 11:14​ การป้องกันไม่เกิดอาการ AMS
  • 12:40​ การปรับตัวของร่างกายเข้ากับพื้นที่สูง (Acclimatization)
  • 14:34​ การใช้ยาเพื่อป้องกันอาการ AMS
  • 16:50​ การรักษาอาการแพ้ความสูง AMS เบื้องต้น

อาการสมองบวมจากการขึ้นพื้นที่สูง (HACE)

  • 18:14​ อาการสมองบวมเป็นอย่างไร
  • 19:31​ การป้องกัน/รักษาอาการสมองบวม

HACE อาการปอดบวมน้ำจากการขึ้นพื้นที่สูง (HAPE)

  • 23:41​ อาการปอดบวมน้ำเป็นอย่างไร
  • 24:53​ การป้องกัน/รักษาอาการ HAPE

ถ้าหากมีคำถามใดๆ สามารถพิมพ์ไว้ในช่องความเห็นได้เลยนะครับ ผมจะพยายามตอบให้ทุกคำถาม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *